พารามิเตอร์ที่สำคัญในการฉีดพลาสติก ตอนที่ 2

ตอน  1  2  3  4

4.4 เวลาในการฉีดพลาสติก

เวลาในการฉีดพลาสติก (injection time) เหลวเข้าแม่พิมพ์นั้นทางโรงงานพลาสติกไม่สามารถปรับตั้งค่าได้โดยตรงที่ตัวเครื่องฉีดเพราะจะขึ้นอยู่กับความเร็วในการเคลื่อนที่ตามแนวแกนของตัวเกลียวหนอน (ความเร็วฉีด) และระยะทางของพลาสติกเหลวที่อยู่หน้าปลายเกลียวหนอน

4.5 เวลาในการย้ำรักษาความดัน

เวลาในช่วงนี้มีบทบาทมากต่อคุณภาพของชิ้นงานฉีดที่ได้ เพราะถ้าใช้เวลาในการย้ำ (holding time) เพื่อรักษาความดันน้อยเกินไป ชิ้นงานก็จะเกิดรอยยุบที่ผิวได้ (เช่นการฉีดถังปูนถ้าใช้เวลาการย้ำน้อยเกินไปก็จะเกิดลอยยุบที่เกสทางเข้าของถังปูนได้) แต่ถ้าใช้นานเกินไปก็อาจเกิดความเค้นภาพในเนื้อชิ้นงานได้

4.6 เวลาในการหล่อเย็น

เวลาในการหล่อเย็น (cooling time) ที่เกิดขึ้นในการฉีดพลาสติกนี้จะมีอยู่ 2 ช่วงคือ ช่วงแรกเป็นเวลาในการหล่อเย็นที่ทางโรงงานฉีดพลาสติกสามารถปรับตั้งให้กับเครื่องฉีดพลาสติกได้ ซึ่งเป็นเวลาส่วนใหญ่ที่ใช้ในการฉีดแต่ละครั้ง เวลาในการหล่อเย็นที่เราทำการปรับตั้งจะนานแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของชิ้นงานที่อยู่ในแม่พิมพ์ที่เราต้องการว่าจะให้มีอุณหภูมิเท่าไร หรือลดลงพอที่จะเปิดแม่พิมพ์พลาสติกเพื่อปลดชิ้นงานออกโดยไม่เสียรูปทรงได้หรือยัง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิตัวแม่พิมพ์พลาสติกและความหนาของชิ้นงาน และชนิดของเม็ดพลาสติก ส่วนเวลาในการหล่อเย็นช่วงที่สองเป็นเวลาหล่อเย็นทั้งวงจรคือ เป็นเวลาในการลดอุณหภูมิทั้งหมดของชิ้นงานพลาสติกตั้งแต่เริ่มฉีดพลาสติกเหลวเข้าแม่พิมพ์ ทำการย้ำรักษาความดันและรวมเวลาในการหล่อเย็นที่ปรับตั้งจนการทั้งแม่พิมพ์พลาสติกเริ่มเปิด

4.7 เวลาทำงานทั้งวงจร

เวลาทำงานทั้งวงจร (cycle time)เป็นเวลารวมที่ใช้ทั้งหมด ตั้งแต่แม่พิมพ์พลาสติกเริ่มเคลื่อนที่เข้าและปิดจนกระทั้งเสร็จสิ้นการปลดชิ้นงานออกจากแม่พิมพ์พลาสติก เวลานี้ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับเวลาในการย้ำรักษาความดันและเวลาในการหล่อเย็นที่ปรับตั้ง การคำนวนราคางานฉีดของโรงงานฉีดพลาสติกก็จะใช้เวลาการทำงานทั้งวงจรนี้มาเป็นแฟกเตอร์ตัวหนึ่งเหมือนกัน

4.8 ความดันฉีดพลาสติก

ความดันฉีดเป็นความดันที่เกิดขึ้นกับพลาสติกเหลวที่อยู่หน้าปลายเกลียวหนอน โดยการเครื่องที่ตามแนวแกนของเกลียวหนอน เนื่องจากความดันของน้ำมันไฮดรอลิกที่กระทำต้อพื้นที่หน้าตัดของลูกสูบไฮดรอลิก ความดันนี้เองที่เป็นตัวทำให้พลาสติกเหลวที่อยู่หน้าปลายเกลียวหนอนเคลื่อนที่เข้าในแม่พิมพ์พลาสติกและจะไหลเข้าเต็มแม่พิมพ์พลาสติกหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความดันฉีดนี้เหมือนกัน ความดันนี้โรงงานพลาสติกสามารถปรับได้โดยตรงที่ความดันของน้ำมันไฮดรอลิก

4.9 ความดันย้ำ

ความดันย้ำ (holding) เป็นความดันที่เกิดขึ้นกับพลาสติกเหลวที่อยู่หน้าปลายเกลียวหนอนเหมือนกับความดันฉีดทุกประการ แต่แตกต่างกันที่ขนาดของความดันย้ำนี้จะน้อยกว่า โดยทั่วๆ ไปโรงงานฉีดพลาสติกจะใช้ประมาณ 30-70เปอร์เซ็นต์ ของความดันฉีด (ความดันของพลาสติกเหลวหน้าปลายเกลียวหนอนที่ปรับตั้ง) ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของเม็ดพลาสติกด้วย เช่น พลาสติกใดที่มีความหนืดสูงโรงงานพลาสติกก็จะใช้ความดันย้ำประมาณ 70เปอร์เซ็นต์ ของความดันฉีด (ตัวอย่างเช่น อ่างผสมปูน  ตะกร้าหูเหล็ก ใช้เม็ด Hdpe ที่มีความหนืดสูง) แต่ถ้าพลาสติกชนิดใดมีความหนืดต่ำโรงงานพลาสติกก็จะใช้ 30เปอร์เซ็นต์ของความดันฉีด (ตัวอย่างเช่น ถาดเพาะกล้า ใช้เม็ด PP จะมีความหนืดต่ำ) ความดันย้ำนี้บางทีเรียกว่า ความดันฉีดจังหวะสอง ความดันนี้มีอิทธิพลต่อคุณภาพของชิ้นงานพลาสติก เช่น การหดตัว ความดันภายใน น้ำหนักของชิ้นงาน และการยุบตัวของผิวชิ้นงานพลาสติก ด้วยเหตุนี้จึงต้องเลือกใช่ค่าความดันย้ำให้เหมาะสมไม่น้อยหรือมากเกินไป

4.10 ความดันต้านการถอยหลังกลับของเกลียวหนอนหรือสกรู

ความดันต้านการถอยหลังกลับของเกลียวหนอน (back pressure) เป็นความดันที่เกิดขึ้นตรงตำแหน่งด้านท้ายของเกลียวหนอน เนื่องจากความดันของน้ำมันไฮดรอลิกเหมือนกับความดันฉีดและย้ำ เพื่อต้านทานการถอยหลังกลับของเกลียวหนอนเนื่องจากความดันที่เกิดขึ้นของพลาสติกเหลวที่อยู่หน้าปลายเกลียวหนอนในจังหวะที่ทำการหลอมเหลวและป้อนพลาสติก ความดันเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยให้เกลียวหนอนถอยหลังกลับอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการหลอมเหลวและการผสมกันของวัสดุพลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกที่ต้องมีการผสมสารสี (pigment) ลงไปด้วยแล้วก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความดันนี้ช่วยเพื่อให้กระจายตัวของสีเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้าเป็นการฉีดชิ้นงานที่ไม่ต้องการคุณภาพมากนัก หรือเป็นการฉีดโดยใช้เกลียวหนอนแบบมีช่วงไล่ก๊าซอาจไม่จำเป็นต้องใช้ความดันนี้หรือใช่ค่าต่ำๆ ก็ได้ เพื่อให้การทำงานรวดเร็วขึ้นหรือเพื่อป้องกันไม่ให้พลาสติกเหลวไหลออกมาจากกระบอกฉีดตรงตำแหน่งไล่ก๊าซ ความดันนี้โดยปกติเราจะใช้ประมาณ 50-150บาร์ (ความดันด้านท้ายของเกลียวหนอน) หรือ 5-10บาร์ (ความดันไฮดรอลิก)

4.11 ความดันในแม่พิมพ์พลาสติก

ความดันในแม่พิมพ์พลาสติกเป็นความดันที่เกิดขึ้นในแม่พิมพ์พลาสติก เนื่องจากการไหลของพลาสติกเหลวเข้าสู่แม่พิมพ์พลาสติกเนื่องจากความดันฉีด ความดันนี้จะมีค่าสูงสุดเมื่อพลาสติกเริ่มเต็มแม่พิมพ์ และจะเป็นตัวที่ก่อให้เกิดแรงกระทำภายในแม่พิมพ์พลาสติกทำให้แม่พิมพ์พลาสติกเผยออก

4.12 ความดันในการค้างหัวฉีดพลาสติกไว้ที่แม่พิมพ์

ความดันในการค้างหัวฉีดพลาสติกไว้ที่แม่พิมพ์นี้จะคอยต้านแรงที่เกิดขึ้นเนื่องจากการฉีด ถ้าแรงที่เกิดขึ้นเนื่องจากความดันนี้น้อยกว่าแรงที่เกิดขึ้นจากความดันฉีด พลาสติกเหลวก็มีโอกาสทะลักออกมาที่หัวฉีดพลาสติกได้แทนที่จะเข้าไปในแม่พิมพ์พลาสติก

4.13 ความเร็วในการฉีดพลาสติก

ความเร็วในการฉีดพลาสติกเป็นความเร็วในการเคลื่อนที่ตามแนวแกนของเกลียวหนอนเพื่อดันพลาสติกเหลวที่อยู่หน้าปลายเกลียวหนอนให้ไหลเข้าแม่พิมพ์พลาสติก ต้นกำลังขับก็ได้มาจากไฮดรอลิก ความเร็วในการฉีดพลาสติกจะเป็นตัวควบคุมความดันฉีด กล่าวคือ ถ้าโรงงานพลาสติกใช้ความเร็วฉีดสูงขึ้นความดันฉีดก็จะมากขึ้นตาม แต่จะไม่เกินค่าสูงสุดที่ที่โรงงานเราตั้งไว้ให้กับเครื่องฉีดพลาสติก เครื่องฉีดพลาสติกแบบเก่าจะมีอยู่ความเร็วเดียว แต่ถ้าเป็นเครื่องฉีดพลาสติกสมัยใหม่ ความเร็วในการฉีดพลาสติกสามารถปรับตั้งได้มากกว่า 10ขั้นความเร็ว ซึ่งจะช่วยในการแก้ปัญหาให้กับชิ้นงานพลาสติกได้มากขึ้น จากเหตุผลดังกล่าวความเร็วฉีดจึงมีการกล่าวถึงกันมากกว่าความดันฉีด

4.14 ความเร็วในการปิด-เปิดแม่พิมพ์พลาสติก

เวลาในการทำงานทั้งวงจรจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอู่กับความเร็วในการปิด-เปิดแม่พิมพ์พลาสติกเหมือนกันความเร็วในการเปิดแม่พิมพ์พลาสติกจะไม่ค่อยมีอิทธิพลมากนักต่อแม่พิมพ์พลาสติก (ยกเว้นแม่พิมพ์แบบใช้สลักเอียง) แต่จะมีผลต่อชิ้นงานฉีดคือ ในกรณีที่แม่พิมพ์ด้านอยู่กับที่เป็นเบ้าลึก การเปิดแม่พิมพ์พลาสติกจะต้องค่อยๆ เปิดมิฉะนั้นผิวชิ้นงานจะถูกครูดเป็นรอย ส่วนความเร็วในการปิดแม่พิมพ์พลาสติกต้องคอยระวังอย่าให้สูงเกินไปเมื่อแม่พิมพ์พลาสติกเริ่มจะปิดเพราะจะเกิดการกระแทกกันได้ระว่างแม่พิมพ์พลาสติกทั้งสองข้าง ทำให้แม่พิมพ์พลาสติกเสื่อมสภาพเร็วหรือเกิดการเสียหายได้ ความเร็วในการปิด-เปิดแม่พิมพ์พลาสติก โดยทั่งๆ ไปจะมีอยู่ 3ขั้นความเร็วสำหรับเครื่องฉีดแบบใหม่ และจะมีช่วงป้องกันแม่พิมพ์ (mold protection) ด้วย โดยช่วงนี้โรงงานฉีดพลาสติกสามารถปรับตั้งความดันในการเลื่อนแม่พิมพ์พลาสติกเข้าปิดได้ ในกรณีที่ชิ้นงานพลาสติกเกิดค้างติดอยู่ที่แม่พิมพ์ โดยเฉพาะชิ้นงานพลาสติกที่แข็งซึ่งถ้าเราใช้ความดันในการเลื่อนแม่พิมพ์เข้าปิดสูงโดยมีชิ้นงานที่แข็งข้างอยู่ แม่พิมพ์ทั้งสองซีกของเราอาจเกิดการเสียหายได้ ด้วยเหตุนี้จึงควรใช้ความเร็วช้าในขณะที่แม่พิมพ์พลาสติกเริ่มปิดและเริ่มเปิด

4.15 ความเร็วในการเลื่อนเข้า-ออกของชุดฉีดพลาสติก

ความเร็วนี้ควรให้เหมาะสมอย่าให้เร็วเกินไป โดยเฉพาะความเร็วในการเลื่อนเข้าเพราะจะเกิดการกระแทกของหัวฉีดกับแม่พิมพ์พลาสติก ทำให้เกิดการเสียหายได้ ทั้งตัวแม่พิมพ์พลาสติกแลหัวฉีดพลาสติก ความเร็วนี้จะขึ้นอยู่กับระยะทางด้วย ถ้าระยะทางที่ชุดฉีดต้องถอยหลังกลับมากก็ต้องใช้ความเร็วสูงเพื่อให้เวลาในการทำงานสั้นลง เพระฉะนั้นระยะทางที่ใช้ในการเลื่อนเข้า-ออกนั้นจึงควรใช้ประมาณ 5 ถึง 10 mm ก็พอ

4.16 ขนาดของเครื่องฉีดพลาสติก

การเรียกขนาดของเครื่องฉีดพลาสติก เราสามารถเรียกได้สองแบบคือ เรียกตามแรงสูงสุดที่สามารถทำได้ในการปิดล็อกแม่พิมพ์พลาสติก โดยมีหน่วยเป็นตันหรือกิโลนิวตัน (1ตันมีค่าประมาณ 10 kN) และเรียกตามน้ำหนักของพลาสติกที่สามารถทำการฉีดได้ โดยมีหน่วยเป็นกรัมหรือออนซ์ (100กรัม มีค่าประมาณ 3.52ออนซ์) โดยเทียบกับพลาสติก ps เป็นส่วนใหญ่
ตอน  1  2  3  4
โรงงานพลาสติก L.A PLastic
129/20 หมู่4 ซ.เพชรเกษม99 แยก 5
ต.อ้อมน้อย อ. กระทุ่มแบน
จ.สมุทรสาคร 74130 ประเทศไทย

TEL: 081-903-4147

Email: la2plastic@gmail.com
line qr come ติดต่อโรงงานผลิตพลาสติก
LINE ID: @laplastic
Copyright © 2008 by "L.A PLASTIC"  •  All Rights reserved www.laplastic.biz Tel: 081-9034147