สถานการณ์การผลิตทุเรียน

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาการส่งออกทุเรียนของไทยได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการขยายตัวของอุปสงค์การบริโภคทุเรียนในตลาดการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดการนำเข้าของจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งได้ส่งผลต่อการปรับตัวของราคาทุเรียนทั้งในตลาดส่งออกและตลาดภายในประเทศ ราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นสร้างแรงจูงใจต่อการขยายพื้นที่การเพาะปลูกและผลผลิตทั้งในประเทศไทยและในแหล่งผลิตทุเรียนดั้งเดิม เช่น ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ อีกทั้งยังมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกไปในแหล่งผลิตใหม่ๆ เช่น ประเทศกัมพูชา เวียดนาม และเมียนมาร์ รวมถึงรัฐในภาคเหนือของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งแม้ว่าในขณะนี้การเพิ่มขึ้นของอุปทานผลผลิตโดยรวมจะยังไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่มีแนวโน้มว่าภายในทศวรรษข้างหน้าการขยายตัวของผลผลิตทุเรียนจะมีมากขึ้น หากปัจจัยทางด้านอุปสงค์ทุเรียนในตลาดการค้าโลกมีข้อจำกัดเกิดขึ้น ก็จะส่งผลกระทบต่อราคาตลอดจนรายได้เกษตรกรตามมา
ในปี 2559 พื้นที่ปลูกทุเรียนในแหล่งผลิตที่สำคัญ 5 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม มีพื้นที่ปลูกรวมกันประมาณ 1.43 ล้านไร่ หรือประมาณ 276.50 พันเฮกตาร์ โดยไทยมีพื้นที่ปลูกทุเรียนสูงสุดประมาณ ร้อยละ 31.77 รองลงมาได้แก่ อินโดนีเซีย ร้อยละ 26.80 มาเลเซีย ร้อยละ 22.34 เวียดนาม ร้อยละ 11.83 และฟิลิปปินส์ ร้อยละ 7.26
สำหรับการเพาะปลูกทุเรียนในกัมพูชา ลาว พม่า รวมถึงในพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย จัดเป็นแหล่งเพาะปลูกใหม่ มีพื้นที่ที่ให้ผลผลิตไม่มากและยังไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศนั้นๆ แหล่งเพาะปลูกใหม่ในประเทศดังกล่าวเป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาจากประเทศไทยซึ่งได้แก่ พันธุ์หมอนทองและชะนี เป็นต้น
ฤดูเก็บเกี่ยวทุเรียนมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพภูมินิเวศของแต่ละประเทศ ตลอดจนสภาพแวดล้อมของภูมิอากาศในแหล่งผลิตนั้นๆ เป็นสำคัญ โดยทุเรียนของไทยส่วนมากจะมีช่วงฤดูเก็บเกี่ยวระหว่างเดือน เมษายน-กันยายน ในมาเลเซียตะวันตกหรือในคาบสมุทรมลายูและเวียดนามจะมีฤดูเก็บเกี่ยวใกล้เคียงกับฤดูเก็บเกี่ยวทุเรียนของไทย สำหรับฤดูเก็บเกี่ยวในฟิลิปปินส์จะเริ่มช้ากว่าฤดูเก็บเกี่ยวของไทยและมาเลเซียใต้ประมาณ 2-3 เดือน โดยจะมีฤดูเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน ส่วนฤดูเก็บเกี่ยวทุเรียนในอินโดนีเซียจะมีฤดูเก็บเกี่ยวเริ่มจากเดือนมิถุนายน-กุมพาพันธ์ของปีถัดไป เช่นเดียวกับฤดูเก็บเกี่ยวทุเรียนในมาเลเซียตะวันออกแถบเกาะบอร์เนียว
ฤดูเก็บเกี่ยวทุเรียนของประเทศต่างๆ ที่เป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ
ฤดูเก็บเกี่ยวทุเรียนของประเทศต่างๆ ที่เป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ
ประเทศที่มีการเพาะปลูกทุเรียนเชิงการค้าและมีการลงทุนวิจัยเกี่ยวกับพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียนเพื่อให้ตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ไทย มาเลเซียและเวียดนาม สำหรับการเพาะปลูกและการผลิตทุเรียนในประเทศอินโดนีเซียจะมีความแปรปรวนผลผลผลิตค่อนข้างสูง ทั้งนี้เป็นเพราะการเพาะปลูกทุเรียนในประเทศดังกล่าวยังเป็นการทำการเกษตรแบบกิ่งยังชีพ มีการจัดการฟาร์มหรือพื้นที่เพาะปลูกอยู่ในระดับต่ำและส่วนมากปล่อยไปตามธรรมชาติ การปรับปรุงพันธุ์ มีการพัฒนามีการพัฒนาการน้อยพันธุ์ที่เกษตรกรใช้ในการเพาะปลูกส่วนใหญ่จึงยังเป็นพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมที่คุณภาพของเนื้อทุเรียนไม่ได้เป็นไปตามความต้องการของตลาดเช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ แหล่งผลิตทุเรียนที่สำคัญของฟิลิปปินส์จะอยู่ในพื้นที่ของเกาะมินดาเนาและการเพาะปลูกทุเรียนของเกษตรกรในฟิลิปปินส์ยังเป็นกิ่งอาชีพ ผลผลิตยังมีจำนวนน้อยและคุณภาพเนื้อของทุเรียนและรูปแบบของระบบการผลิตยังไม่สามารถแข่งขันในตลาดส่งออกได้ผลผลิตทุเรียนทั้งของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์จึงเป็นการจำหน่ายให้กับผู้บริโภคภายในประเทศเป็นสำคัญ

ตลาดการส่งออกทุเรียนของไทย

สถิติการส่งออกทุเรียนทุเรียนของไทยมีการส่งออกในรูปของทุเรียนสดเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้มีปริมาณผลผลิตส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 205,569 ตัน เฉลี่ยในช่วงปี 2550-2552 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 362,594 ตัน และ 463,679 ตัน เฉลี่ยในช่วงปี 2555-2557 และช่วงปี 2559-2561 ตามลำดับ โดยมีอัตราการเพิ่มขึ้นของปริมาณอุปทานส่งออกเฉลี่ยร้อยละ 12.14 ต่อปี จากช่วง 2550-2561 และหากพิจารณาในส่วนของมูลค่าของอุปทานผลผลิตส่งออก พบว่าการส่งออกทุเรียนสดของไทยมีมูลค่าขยายตัวเพิ่มจาก 3,270.88 ล้านบาท เฉลี่ยในช่วงปี 2550-2552 เพิ่มขึ้นเป็น 23,262.78 ล้านบาท เฉลี่ยในช่วงปี 2559-2561 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.46 ต่อปี เฉลี่ยในช่วง 2550-2561 ซึ่งสะท้อนถึงการเพิ่มมูลค่าต่อตันของทุเรียนสดส่งออกอย่างมาก
ปริมาณและมูลค่าการส่งออกทุเรียนของประเทศไทย ปี 2550-2561
ปริมาณและมูลค่าการส่งออกทุเรียนของประเทศไทย ปี 2550-2561
สถิติการส่งออกทุเรียนแช่เย็นและแช่แข็งมีปริมาณส่งออกเฉลี่ย 16,329 ตันเฉลี่ยในช่วงปี 2550-2552 ลดลงมาเป็น 14,900 ตัน เฉลี่ยในปี 2555-2557 และปรับสูงขึ้นเป็น 17,877 ตัน เฉลี่ยในปี 2559-2561 โดยมีอัตราการขยายตัวค่อนข้างต่ำร้อยละ 2.42 ต่อปี เฉลี่ยในช่วงจากปี 2550-2561 ในด้านมูลค่าการส่งออกทุเรียนแช่เย็นและแช่แข็งได้เพิ่มขึ้น 449.64 ล้านบาท เฉลี่ยในช่วงปี 2550-2552 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 914.09 ล้านบาท และ 3,029.83 ล้านบาท เฉลี่ยในช่วงปี 2555-2557 และช่วงปี 2559-2561 ตามลำดับ หรือมีอัตราการขยายตัวของมูลค่าร้อยละ 23.41 ต่อปี เฉลี่ยในช่วงปี 2550-2561 ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกทุเรียนของไทยได้ขยายตัวอย่างมากจากมูลค่าการส่งออก 3,835.36 ล้านบาท เฉลี่ยในช่งปี 2550-2552 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 26,645.98 ล้านบาท เฉลี่ยในช่วงปี 2559-2561 หรือมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 24.07 ต่อปี เฉลี่ยจากช่วง 2550-2561 และมีสัดส่วนมูลค่าทุเรียนสดส่งออกถึงร้อยละ 83-41 ของมูลค่าส่งออกทุเรียนไทยโดยรวมเฉลี่ยในช่วงปี 2559-2561 การส่งออกทุเรียนแช่เย็นและแช่แข็งและทุเรียนแห้งมีสัดส่วนต่ำเพียงร้อยละ 11.37 และ 1.33
การส่งออกสินค้าทุเรียนสดของไทยจะถูกส่งไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกและอาเซียนเป็นหลักโดยปี 2561 มีการส่งออกทุเรียนสดในทุกภูมิภาครวม 496,915 ตัน ในจำนวนนี้ได้ส่งไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกมากที่สุด จำนวน 300,543 ตัน (ร้อยละ 60.48) และภูมิภาคอาเซียน จำนวน 195,349 ตัน (ร้อยละ 39.31) ส่วนที่เหลือ จำนวน 1,024 ตัน (ร้อยละ 0.21 ) ส่งออกไปยังภูมิภาคอื่นๆ ของโลก ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าผลผลิตทุเรียนของไทยส่งไปยังสองภูมิภาคดังกล่าวรวมกันคิดเป็นร้อยละ 99.79 ของปริมาณส่งออกทุเรียนสดไทยทั้งหมด
สถิติตลาดการส่งออกทุเรียนสดของไทยปี 2561
สถิติตลาดการส่งออกทุเรียนสดของไทยปี 2561
จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การผลิตทุเรียนของโลกได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลจากการขับเคลื่อนขยายตัวของ อุปสงค์ของตลาดการค้าและการบริโภคทุเรียนของโลก โดยเฉพาะการขยายตัวของตลาดนำเข้าทุเรียนจากจีนในปัจจุบัน แหล่งผลิตที่มีการผลิตทุเรียนมากที่สุดเป็นลำดับที่หนึ่งของโลกได้แก่ อินโดนีเซีย รองลงมาได้แก่ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และ ฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตามการผลิตทุเรียนของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เป็นการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศเป็นสำคัญ เนืองจากยังมีข้อจำกัดในเรื่องระบบการผลิตให้ได้คุณภาพและมาตรฐานการส่งออก สำหรับการผลิตทุเรียนของไทยมีจุดเด่นทั้งในเรื่องด้านคุณภาพและรวมถึงได้มีการจัดระบบสวนภายใต้ระบบการทำการเกษตรที่ดี ทำให้ทุเรียนไทยได้รับความนิยมและความเชื่อถือในด้านคุณภาพ ในตลาดส่งออกทุเรียนไทยเป็นผู้ถือครองตลาดส่งออกรายใหญ่ในตลาดการค้าทุเรียนโลก โดยเฉพาะการส่งออกทุเรียนสดไปยังประเทศจีน การส่งออกที่ขยายตัวของทุเรียนไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ได้มีผลต่อการปรับตัวของราคาทุเรียนในระดับฟาร์มมากกว่า 3 เท่าตัว ในทศวรรษข้างหน้า คาดว่าอุปสงค์การบริโภคทุเรียนจะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามทั้งเวียดนามและมาเลเซียจะมีการปรับตัวในระบบการผลิต และจะก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งของไทยในตลาดส่งออกของภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะการนำเข้าทุเรียนจากจีน แม้ว่าทุเรียนจะได้ก้าวขึ้นมาเป็นสินค้าดาวเด่นในช่วงครึ่งทศวรรษที่ผ่านมาทั้งในการเป็นสินค้าผลไม้ส่งออกที่มีมูลค่าสูงเป็นลำดับหนึ่งของมูลค่าส่งออกผลไม้ไทยโดยรวม แต่การที่ไทยจะรักษาตลาดทุเรียนส่งออกให้ยั่งยืนและเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของภาคเศรษฐกิจภาคการเกษตรนั้น มีความท้ายทายอย่างมากในการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานให้เป็นห่วงโซ่คุณค่า การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ รวมถึงการเฝ้าระวังป้องกันการผูกขาดจากผู้ประกอบการข้ามชาติพร้อมๆ กับการจัดการให้มีนวัตกรรมหนุนเสริมทั้งในกระบวนการผลิตต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สร้างกลไกลขับเคลื่อน และยกระดับทุเรียนของไทยให้เป็นสินค้าพรีเมี่ยมพร้อมๆ กับการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในตลาดการค้าทุเรียนโลกอย่างยั่งยืน
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
โรงงานพลาสติก L.A PLastic
129/20 หมู่4 ซ.เพชรเกษม99 แยก 5
ต.อ้อมน้อย อ. กระทุ่มแบน
จ.สมุทรสาคร 74130 ประเทศไทย

TEL: 081-903-4147

Email: la2plastic@gmail.com
line qr come ติดต่อโรงงานผลิตพลาสติก
LINE ID: @laplastic
Copyright © 2008 by "L.A PLASTIC"  •  All Rights reserved www.laplastic.biz Tel: 081-9034147