สายพันธุ์ทุเรียนในประเทศไทยและลักษณะทุเรียนพันธุ์ต่างๆ ที่เป็นที่นิยม

ลักษณะพฤกษศาสตร์ของทุเรียน

วงศ์ : Bombacaceae
ชื่อสามัญ : Durian
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Durio Zibethinus Murray
ใบ ทุเรียนเป็นไม้ยืนต้น เป็นพืชที่ไม่มีการผลัดใบ ทรงพุ่มแผ่กว้าง มีความสูง 20-40 เมตร (เพาะเมล็ด) สำหรับต้นที่ปลูกจากการเสียบยอด มีความสูง 8-12 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ยาว 8-20 เซนติเมตร กว้าง 4-6 เซนติเมตร เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ ปลายใบแหลม มีก้านใบสีน้ำตาลบนใบสีเขียวแก่ถึงเขียวเข้ม ด้านใต้ใบเป็นสีน้ำตาล เส้นใบทุเรียนสานกันมีลักษณะเป็นร่างแห ใบของทุเรียนในแต่ละพันธุ์ก็จะมีความแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์นั้นๆ ด้วย
ราก ทุเรียนมีรากหาอกหารบริเวณผิวดินจนถึงระดับ 50 เซนติเมตร มีรากพิเศษที่เกิดจากบริเวณโคนต้นอยู่มากมายตามผิวดิน แตกออกมาลักษณะตีนตะขาบเรียกว่า "รากตะขาบ" รากแก้วของทุเรียนทำหน้าที่ยึดลำต้น ทุเรียนนนท์ส่วนใหญ่ ไม่มีรากแก้วเพราะปลูกจากกิ่งตอน แต่จะมีรากพิเศษแทนหรือรากแขนงที่แตกจากรากพิเศษที่หยั่งลึกลงไปในดินทำหน้าที่คล้ายรากแก้วและสามารถหยั่งลึกไปถึงระดับน้ำใต้ดินได้มีรากฝอยเป็นรากหาอาหารออกมาจากพิเศษมีหน้าที่ในการดูดอาหาร
ดอก ดอกทุเรียนมีลักษณะคล้ายระฆัง เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ใน 1 ดอกประกอบด้วย กลีบเลี้ยงซึ่งอยู่ชั้นนอกสุดมีสีเขียวอมน้ำตาลทำหน้าที่หุ้มกลีบดอกไว้ เมื่อดอกเริ่มบานจะเห็นกลีบเลี้ยง 2-3 กลีบมีกลีบรองลักษณะคล้ายหม้อตาลโตนดอยู่ถัดเข้าไปจากกลีบเลี้ยง กลีบดอกมีสีขาวนวล จำนวน 5 กลีบมีเกสรตัวผู้ 5 ชุด มีก้านเกสร 5-8 อัน ทุเรียนมักออกดอกเป็นช่อๆ 1-30 ดอก
ลักษณะดอกทุเรียนระยะแรก
ดอกทุเรียนระยะแรก
ลักษณะดอกทุเรียนระยะดอกบาน
ดอกทุเรียนระยะดอกบาน
ผล ผลทุเรียนมีลักษณะเป็นหนามแหลมแข็ง เปลือกหนา ในแต่ละสายพันธุ์มีลักษณะของผลแตกต่างกันออกไป เช่น พันธุ์กลม (ก้านยาว กระดุม) พันธุ์ก้นป้าน (หมอนทอง ทองย้อย) ในแต่ละผลมีลักษณะแบ่งเป็นพู ในแต่ละพูจะมีเนื้อทุเรียนและมีเมล็ดอยู่ภายใน เนื้อของทุเรียนมีสีจำปาหรือเนื้อสีเหลืองอ่อนขึ้นอยู่กับสภาพของดินและพันธุ์ของทุเรียน
ลักษณะผลทุเรียน
ผลทุเรียน
ลักษณะเนื้อทุเรียน
ลักษณะเนื้อทุเรียน
ลักษณะผลทุเรียนแต่ละสายพันธุ์จะมีความแตกต่างกัน
ลักษณะผลทุเรียน

7 สายพันธุ์ทุเรียนที่นิยมปลูกและบริโภค

ในปัจจุบันพบว่าพันธุ์ทุเรียนในไทยมีหลากหลายสายพันธุ์ที่จำหน่ายในท้องตลาดแต่ "พันธุ์ทุเรียนที่นิยม" ปลูกและบริโภคตลอดจนการส่งออกจะมีอยู่เพียงไม่กี่พันธุ์ เราไปดูกันว่าทุเรียนที่นิยมมีอะไรบ้างแต่ละสายพันธุ์รสชาติและลักษณะแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

1. ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง

ทุเรียนพันธุ์หมอนทองผลจะมีขนาดใหญ่ น้ำหนักประมาณ 3-4 กิโลกรัม ทรงผลค่อนข้างยาวมีบ่าผล ปลายผลแหลม พูมักไม่ค่อยเต็มทุกพู หนามแหลมสูง ฐานหนามเป็นเหลี่ยม ระหว่างหนามใหญ่จะมีหนามเล็กวางแซมอยู่ทั่วไปซึ่งเรียกหนามชนิดนี้ว่า เขี้ยวงู ก้านผลใหญ่แข็งแรง ช่วงกลางก้านผลจนถึงปากปลิงจะอ้วนใหญ่เป็นทรงกระบอก เนื้อหนาสีเหลืองอ่อนละเอียด เนื้อค่อนข้างแห้งไม่แฉะติดมือ รสชารติหวานมัน เมล็ดน้อย และลีบเป็นส่วนใหญ่
รสชาติและลักษณะทุเรียนพันธุ์หมอนทอง
ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง

2. ทุเรียนพันธุ์กระดุมดอง

ทุเรียนพันธุ์กระดุมดอง กลิ่นของเนื้อมีกลิ่นอ่อน รสชาติของเนื้อมันมากกว่าหวาน ลักษณะของเนื้อละเอียด ไม่มีเส้นใยในเนื้อ ทุเรียนพันธุ์นี้ทรงต้นดี เป็นพันธุ์ที่ปลูกขึ้นง่ายและโตเร็วกว่าพันธุ์อื่นๆ เป็นพันธุ์ที่ปลูกแล้วไม่ค่อยทิ้งกิ่ง ลักษณะใบจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ แผ่นในสองข้างห้อเข้าหากันแผ่นใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ผลของทุเรียนพันธุ์นี้ค่อนข้างกลมแบน โคนจะใหญ่ปลายเรียว หนามจะสั้นถี่ หนามตอนหัวและก้นผลเล็กและถี่ ร่องพูตื้น
รสชาติและลักษณะทุเรียนพันธุ์กระดุมดอง
ทุเรียนพันธุ์กระดุมดอง

3. ทุเรียนพันธุ์ก้านยาว

ทุเรียนพันธุ์ก้านยาว ผลมีขนาดปานกลาง น้ำหนักประมาณ 3 กิโลกรัม ทรงผลกลมเห็นพูไม่ชัดเจน พูเต็มทุกพู หนามเล็กถี่สั้นสม่ำเสมอทั้งผล ก้านผลใหญ่และยาวกว่าพันธุ์อื่นๆ เนื้อละเอียดสีเหลืองหนาปานกลาง กลิ่นเนื้อมีกลิ่นอ่อน รสชาติหวานมัน เมล็ดค่อนข้างใหญ่ ลักษณะของเนื้อละเอียด เนื้อละเอียดไม่เป็นเส้นใย
รสชาติและลักษณะทุเรียนพันธุ์ก้านยาว
ทุเรียนพันธุ์ก้านยาว

4. ทุเรียนพันธุ์ชะนี

ทุเรียนพันธุ์ชะนี ผลมีขนาดปานกลางถึงใหญ่ น้ำหนักประมาณ 2.5-3 กิโลกรัม ผลมีรูปทรงหวด คือ กลางผลป่องหัวเรียว ก้นตัด ร่องพูค่อนข้างลึกเห็นได้ชัด ขั้วผลใหญ่และสั้น เนื้อละเอียด สีเหลืองจัดเกือบเป็นสีจำปา เนื้อเยอะ รสชาติหวานมัน มีกลิ่นหอม เมล็ดค่อนข้างเล็กและมีจำนวนเมล็ดน้อย
รสชาติและลักษณะทุเรียนพันธุ์ชะนี
ทุเรียนพันธุ์ชะนี

5. ทุเรียนพันธุ์พวงมณี

ทุเรียนพันธุ์พวงมณี ทรงผลรูปรี ปลายผลแหลม ลักษณะฐานผลป้าน ความยาวก้านผลปานกลาง 5-11 เซนติเมตร รูปร่างก้านผลขอบนูน รูปร่างหนามผลนูนปลายแหลม กลิ่นของเนื้อมีกลิ่นอ่อน รสชาติของเนื้อหวานมันพอดี ลักษณะของเนื้อละเอียด ไม่มีเส้นใยในเนื้อ ปริมาณน้ำในเนื้อปานกลาง
รสชาติและลักษณะทุเรียนพันธุ์พวงมณี
ทุเรียนพันธุ์พวงมณี

6. ทุเรียนพันธุ์นกหยิบ

ทุเรียนพันธุ์นกหยิบ หรือเรียกว่าพันธุ์หมอนเขียว ซึ่งมีรสชาติความอร่อย คล้ายทุเรียนหมอนทอง แต่จะมีความหวานมันจัดกว่า เนื้อผลสุกเป็นสีเหลืองเข้ม มีกลิ่นหอม ไม่เละหรือแฉะ รสชาติจะหวานมันตั้งแต่ขณะผลยังห่ามอยู่ จะมีความมันจัดเมื่อผลสุกเต็มที่ รสชาติความหวานมันจะคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง ถือว่าเป็นจุดเด่นของทุเรียนพันธุ์นกหยิบ
รสชาติและลักษณะทุเรียนพันธุ์นกหยิบ
ทุเรียนพันธุ์นกหยิบ

7. ทุเรียนพันธุ์ลับแล

ทุเรียนพันธุ์ลับแล มีลักษณะผลค่อนข้างกลม ทรงผลจะมีขนาดเล็ก แต่ละลูกจะมีน้ำหนัก 1-3 กิโลกรัม กลิ่นอ่อน เนื้อมีสีเหลืองเข้ม เนื้อเหนียวละเอียด ไม่เละ รสชาติหวานมันหอมอ่อนๆ
รสชาติและลักษณะทุเรียนพันธุ์ลับแล
ทุเรียนพันธุ์ลับแล

สายพันธุ์ทุเรียนในประเทศไทยแบ่งตามกลุ่ม

ทุเรียนที่ปลูกในประเทศไทยแบ่งตามลักษณะของผลจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 6 กลุ่มดังนี้

1. ทุเรียนกลุ่มกบ

ทุเรียนมีลักษณะรูปทรงใบเป็นแบบรูปไข่ขอบขนาน (oval-oblong) ลักษณะปลายเป็นแบบแหลมโค้ง (acuminate-curve) ลักษณะฐานใบเป็นแบบกลมมน (rounded-obtuse) และลักษณะทรงผลของกลุ่มกบแบ่งได้ 3 ลักษณะคือ
1.1 กลม (rounded)
1.2 กลมรี (oval)
1.3 กลมแป้น (oblate) รูปร่างของหนามผลมีลักษณะโค้งงอ (hooked)
ลักษณะทุเรียนกลุ่มกบ
ลักษณะทุเรียนกลุ่มกบ
ทุเรียนกลุ่มกบมี 46 พันธุ์ แต่ละพันธุ์จะขึ้นต้นชื่อด้วยคำว่า กบนำหน้า เช่น พันธุ์กบสุวรรณ พันธุ์กบทองเพ็ง พันธุ์กบตาท้วม พันธุ์กบพิกุล พันธุ์กบเบา พันธุ์กบชายน้ำ พันธุ์กบซ่อนกลิ่น พันธุ์กบแม่เฒ่า พันธุ์กบหน้าศาล พันธุ์กบตาโห้ พันธุ์กบหลังวิหาร พันธุ์กบสีนาค พันธุ์กบก้นแป้น พันธุ์กบทองคำ พันธุ์กบรัศมี พันธุ์กบตาปุ่น พันธุ์กบตาขำ พันธุ์กบงู พันธุ์กบเล็บเหยี่ยว พันธุ์กบหัวล้าน เป็นต้น

2. ทุเรียนกลุ่มลวง

ทุเรียนมีลักษณะรูปทรงใบป้อมกลางใบ (elliptical) ปลายใบเรียวแหลม (acuminate-acute) ฐานใบแหลม (acute) และมน (obtuse) มีรูปทรงผล 2 ลักษณะ คือ
2.1 ทรงกระบอก (cylindrical)
2.2 รูปรี (elliptic) รูปร่างของหนามผลมีลักษณะเว้า (concave)
ลักษณะทุเรียนกลุ่มลวง
ลักษณะทุเรียนกลุ่มลวง
ทุเรียนกลุ่มลวงมี 12 พันธุ์ ที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ พันธุ์ชะนี ซึ่งมีทั้ง พันธุ์ชะนีก้านยาว พันธุ์ชะนีน้ำตาลทราย พันธุ์ชะนีกิ่งม้วน พันธุ์ย่ำมะหวาด พันธุ์รวงทอง พันธุ์ชมพูศรี เป็นต้น

3. ทุเรียนกลุ่มก้านยาว

ทุเรียนมีลักษณะรูปทรงใบแบบป้อมปลายใบ (obobate-lanceolate) ปลายใบเรียวแหลม (acuminate) ฐานใบเรียว (caudate acute) ทรงผลเป็นรูปไข่กลับ (obovate) และกลม (rounded) รูปร่างหนามผลมีลักษณะนูน (convex)
ลักษณะทุเรียนกลุ่มก้านยาว
ลักษณะทุเรียนกลุ่มก้านยาว
ทุเรียนกลุ่มก้านยาวมี 8 พันธุ์ ที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ พันธุ์ก้านยาว พันธุ์ทองสุก พันธุ์ต้นใหญ่ พันธุ์ก้านยาววัดสัก พันธุ์ก้านยาวสีนาค พันธุ์ชมพูบา เป็นต้น

4. ทุเรียนกลุ่มกำปั่น

ทุเรียนมีลักษณะรูปทรงใบ ยาวเรียว (linear-oblong) ปลายใบเรียวแหลม (caudate-acuminate) ฐานใบแหลม (acute) ทรงผลเป็นทรงขอบขนาน (oblong) รูปร่างของหนามผลมีลักษณะแหลมตรง (pointed)
ลักษณะทุเรียนกลุ่มกำปั่น
ลักษณะทุเรียนกลุ่มกำปั่น
ทุเรียนกลุ่มกำปั่นมี 13 พันธุ์ ที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ พันธุ์หมอนทอง นอกจากนี้ยังมีพันธุ์กำปั่นเดิม พันธุ์กำปั่นแดง พันธุ์กำปั่นตาแพ พันธุ์กำปั่นดำ พันธุ์กำปั่นพวง พันธุ์ชายมะไฟ พันธุ์ปิ่นทอง เป็นต้น

5. ทุเรียนกลุ่มทองย้อย

ทุเรียนมีลักษณะรูปทรงใบแบบป้อมปลายใน (obovate-lanceolate) ปลายเรียวแหลม (acuminate) ฐานใบมน (obtuse) ทรงผลเป็นรูปไข่ (ovate) รูปร่างของ หนามผลมีลักษณะนูนปลายแหลม (pointed-convex)
ลักษณะทุเรียนกลุ่มทองย้อย
ลักษณะทุเรียนกลุ่มทองย้อย
ทุเรียนกลุ่มทองย้อยมี 14 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ทองย้อยเดิม พันธุ์ทองย้อยฉัตร พันธุ์อีทุย พันธุ์ทองใหม่ พันธุ์นกหยิบ พันธุ์ธรณีไหว พันธุ์ทับทิม พันธุ์นมสวรรค์ พันธุ์ฉัตรสีทอง เป็นต้น

6. ทุเรียนกลุ่มเบ็ดเตล็ด

ทุเรียนที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้มีลักษณะไม่เด่นชัด บางลักษณะอาจเหมือนกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งใน 5 กลุ่มแรก ขณะเดียวกันก็มีลักษณะที่ผันแปรออกไป เช่น ลักษณะรูปทรงใบจะมีลักษณะป้อมกลางใบ (elliptical) หรือรูปไข่ขอบขนาน (oval-oblong) ลักษณะปลายใบเรียวแหลม (acuminate-acute) หรือ ฐานใบแหลม (acute) หรือมน (obtuse) ทรงผลมีหลายลักษณะ คือ กลมแป้น (oblate) กลมรี (oval) และทรงกระบอก (cylindrical) หนามผลมีลักษณะเว้าปลายแหลม (pointed-concave) หรือ นูนปลายแหลม (pointed-convex)
ลักษณะทุเรียนกลุ่มเบ็ดเตล็ด
ลักษณะทุเรียนกลุ่มเบ็ดเตล็ด
ทุเรียนกลุ่มเบ็ดเตล็ดมี 81 พันธุ์ เข่น พันธุ์หลงลับแล พันธุ์พวงมณี พันธุ์สาวชมฟักทอง พันธุ์สาวชมเห็ด พันธุ์ยินดี พันธุ์สีทอง พันธุ์เมล็ดในยางปรางค์ พันธุ์ฝอยทอง พันธุ์บางขุนนนท์ พันธุ์ทองม้วน พันธุ์ทองแดง (ตะโก) พันธุ์ตะพาบน้ำ พันธุ์ดาวกระจาย พันธุ์แดงสาวน้อย พันธุ์ชายมังคุด พันธุ์จอกลอย พันธุ์ขุนทอง พันธุ์เขียวตำลึง พันธุ์กระดุมทอง พันธุ์กระเทยเนื้อแดง พันธุ์กระเทยเนื้อขาว พันธุ์หางสิงห์ พันธุ์อีลีบ พันธุ์อีหนัก พันธุ์ตอสามเส้า พันธุ์ทองนพคุณ พันธุ์นมสด พันธุ์เมล็ดกระดุม พันธุ์เมล็ดก้านยาว พันธุ์ลวงเพาะเมล็ด พันธุ์ห้าลูกไม่ถึงผัว พันธุ์หลงลับแล พันธุ์หลินลับแล พันธุ์หนอนละอองฟ้า พันธุ์สาวใหญ่ พันธุ์สาวน้อย พันธุ์สาวเจ้าเนื้อ พันธุ์เมล็ดเผียน พันธุ์ไอ้เม่น พันธุ์ไอ้ใหม่ พันธุ์ทองอีลีบนายทิพย์ พันธุ์ทูลถวาย พันธุ์กระปุกทองดี พันธุ์เนื้อเหลือง พันธุ์บางกอก พันธุ์การะเกด พันธุ์ไอ้หยิบ พันธุ์จำปา พันธุ์สาลิกา พันธุ์เมล็ดอารีย์ พันธุ์เมล็ดอุปถัมภ์ พันธุ์ก้านสั้น พันธุ์ทองหยิบ พันธุ์จำปาใน พันธุ์ทองลินจง พันธุ์นวลทองจันทร์ พันธุ์จันทบุรี1 พันธุ์จันทบุรี2 พันธุ์จันทบุรี3 พันธุ์กระเทยขั้วสั้น พันธุ์ไอ้วงยาว พันธุ์นวลทอง พันธุ์ทองกมล เป็นต้น ซึ่งทุเรียนในกลุ่มนี้จะมีความหลากหลายของสายพันธุ์ค่อนข้างมากและมีการตั้งชื่อแตกต่างกันออกไปตามแหล่งที่ปลูกทุเรียน
จากจำนวนพันธุ์ทุเรียนที่กล่าวมาทั้งหมด มีเพียงไม่กี่พันธุ์ที่มีการส่งเสริมให้มีการปลูกและมีการปลูกอย่างแพร่หลายและเป็นที่รู้จักและนิยมของทั้งผู้ปลูกและผู้บริโภค
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
โรงงานพลาสติก L.A PLastic
129/20 หมู่4 ซ.เพชรเกษม99 แยก 5
ต.อ้อมน้อย อ. กระทุ่มแบน
จ.สมุทรสาคร 74130 ประเทศไทย

TEL: 081-903-4147

Email: la2plastic@gmail.com
line qr come ติดต่อโรงงานผลิตพลาสติก
LINE ID: @laplastic
Copyright © 2008 by "L.A PLASTIC"  •  All Rights reserved www.laplastic.biz Tel: 081-9034147