วิธีการและขั้นตอนการปลูกลำไย ตอนที่ 2

เทคนิคขั้นตอนและวิธีปลูกลำไยให้ได้ผลผลิตดีคุณภาพสูง
ตอน  1  2 

การเตรียมพื้นที่ปลูกลำไย

การสร้างสวนลำไยของประเทศไทยส่วนมากมีการปลูกใน 2 ลักษณะพื้นที่คือ

การสร้่างสวนลำไยสภาพที่ลุ่ม

บางพื้นที่ของจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่มักมีการปลูกลำไยในพื้นที่ที่เคยทำนามาก่อน ปัญหาหลักที่พบของการปลูกลำไยในที่ลุ่มคือ น้ำท่วมขังโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน และมีระดับน้ำใต้ดินสูง หากมีการระบายน้ำไม่ดี ทำให้ต้นลำไยชะงักการเจริญเติบโต การจัดการพื้นที่ปลูกลำไยที่เป็นที่ลุ่มคือ การยกสันร่องปลูกลำไย เป็นการสร้างสวนลำไยที่ต้องมีการลงทุนสูงขึ้น สันร่องที่ใช้ปลูกควรกว้างพอสำหรับการเจริญเติบโตของลำไย โดยทั่วไปสันร่องมีความกว้างประมาณ 6-8 เมตร และร่องน้ำกว้าง 1-2 เมตร ระบบการปลูกบนสันร่องนิยมปลูกเป็นลักษณะแถวเดี่ยวหรือแถวคู่ การปลูกลำไยบนสันร่องควรทำการตัดแต่งกิ่งเพื่อควบคุมพุ่มอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้สะดวกต่อการปฏิบัติงานและลดปัญหาโรคและแมลงศตรูพืชลำไย การสร้างสวนลำไยระบบนี้ในระยะแรกของการปลูกต้นลำไยมีทรงพุ่มขนาดเล็กสามารถใช้พื้นที่ว่างบนสันร่องปลูกพืชอายุสั้น เช่น พืชผัก หรือ ตระกูลถั่ว และยังทำให้ต้นลำไยได้รับน้ำและปุ๋ยที่ให้พืชผักอยู่ตลอดเวลาทำให้ต้นลำไยเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว

การสร้างสวนลำไยที่สภาพที่ดอน

การเตรียมพื้นที่ปลูกลำไยในสภาพที่ดอนจะทำได้สะดวกกว่าในสภาพที่ลุ่ม ปัญหาส่วนมากที่มักพบในการปลูกลำไยในสภาพที่ดอน คือ การขาดน้ำ พื้นที่มีชั้นหินแข็งและปัญหาไฟป่า เป็นต้น ดังนั้นการเตรียมพื้นที่ปลูกในสภาพที่ดอนควรสำรวจพื้นที่สร้างแหล่งน้ำสำหรับใช้ภายในสวน สภาพพื้นที่ปลูกลำไยมีชั้นหินแข็งควรใช้เครื่องจักรทำลายชั้นหินแข็งก่อนปลูกลำไย โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนอาจทำให้ลำไยชะงักการเจริญเติบโตได้ การสร้างสวนลำไยในที่ดอนยังมีปัญหาลมพัดแรงทำให้ต้นลำไยโค่นล้มกิ่งฉีกหัก จึงควรปลูกแนวบังลม เช่นไผ่และสน เป็นต้น และต้องมีการตัดแต่งกิ่งให้ต้นลำไยมีทรงพุ่มเตี้ยช่วยลดปัญหาการโค่นล้ม มีการใช้ไม้ไผ่ค้ำกิ่งน้อยลงนอกจากนี้การสร้างสวนลำไยในที่ดอนต้องทำแนวป้องกันไฟป่าในช่วงหน้าแล้ง หรืออาจสร้างถนนโดยรอบภายในสวนสามารถใช้เป็นแนวป้องกันความเสียหายจากไฟไหม้และสะดวกต่อการขนส่งลำไยที่บรรจุในตะกร้าลำไย

ขั้นตอนการปลูกลำไย

การปลูกลำไยเป็นวิธีปฏิบัติที่ต้องอาศัยทักษะและความละเอียดด่อน เพื่อให้ต้นลำไยมีการเจริญเติบโตที่ดีและรอดตายสูง ขั้นตอนการปลูกลำไยมีดังนี้

1. การเตรียมต้นพันพุ์ลำไยก่อนการปลูก

เพื่อให้กิ่งพันธุ์ลำไยสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมปลูกได้ดีก่อนปลูกประมาณ 1-2 สัปดาห์ ควรย้ายต้นพันธุ์ลำไยออกกลางแจ้งภายนอกโรงเรือน มีการตัดแต่งกิ่งยอดอ่อนออกบ้าง เพื่อลดการคายน้ำกรณีที่ใช้ต้นลำไยที่ขยายพันธุ์ด้วยวิธีเสียบกิ่ง ควรตรวจสอบการเชื่อมติดของรอยแผลให้สมบูรณ์และใช้มีดกรีดพลาสติกพันแผลออกก่อนนำไปปลูก

2. การเตรียมหลุมปลูกลำไย

มีข้อปฏิบัติดังนี้
2.1 การวัดระยะตำแหน่งของหลุมปลูกลำไย เป็นการกำหนดตำแหน่งของหลุมปลูกลำไยตามที่กำหนดไว้ในแผงผังของพื้นที่ปลูกการวัดระยะเพื่อกำหนดตำแหน่งหลุมปลูกของลำไย ควรได้แนวแถวปลูกที่มองทุกด้านเป็นแนวเส้นตรงในทุกทิศ อุปกรณ์ที่จำเป็นในการวัดระยะตำแหน่งของหลุมปลูกลำไยเช่น เทปวัด ไม้หลักเล็งแนว ไม้หลักกำหนดจุดเชือก และอุปกรณ์อื่นๆ เช่น ค้อน จอบ มีด บุ้งกี๋ การทำสวนในพื้นที่ขนาดใหญ่อาจใช้กล้องช่วยเล็งแนวทำให้การปฏิบัติงานเร็วขึ้น
2.2 การขุดหลุมปลูกลำไย ขนาดของหลุมปลูกพิจารณาได้จากสภาพโครงสร้างของดิน ถ้าในสภาพพื้นที่ที่มีโครงสร้างดินปลูกเป็นดินร่วน และมีความอุดมสมบูรณ์ขนาดของหลุมปลูกอาจเล็กลงได้โดยปกติจะใช้ขนาด 30x30 เซนติเมตร การทำสวนลำไยในพื้นที่ขนาดใหญ่การขุดหลุมปลูกต้องใช้แรงงานจำนวนมากทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายสูง การใช้แทรกเตอร์ติดสว่านเจาะดินทำการชุดหลุมจะช่วยประหยัดเวลาและแรงงานได้อย่างมาก แต่การใช้อุปกรณ์เหล่านี้ควรหลีกเลี่ยงในสภาพดินค่อนข้างชื้น

ขั้นตอนการขุดหลุมและปลูกต้นพันธุ์ลำไย

วิธีการปลูกลำไยที่ถูกต้องจะช่วยให้ต้นลำไยมีการเจริญเติบโตที่ดีและได้สวนลำไยที่มีความเป็นระเบียบสวยงาม ควรมีขั้นตอนดังนี้
1. วางไม้กำหนดตำแหน่งปลูกลำไย ก่อนขุดหลุมในตำแหน่งปลูกเพื่อป้องกันไม่ให้ตำแหน่งของต้นลำไยเคลื่อนไปจากตำแหน่งเดิมที่กำหนดไว้
2. ขุดหลุมแยกชั้นดินบนและดินล่างไว้ไม่ให้ปนกัน ในสภาพที่มีความชื้นสูงควรมีการตากหน้าดินทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนปลูกลำไยเพื่อป้องกันและกำจัดศตรูพืชที่อาศัยอยู่ในดิน

3. คลุกเคล้าปุ๋ยคอกที่ย่อยสลายแล้วหรือปุ๋ยหมักกับดินชั้นบน อัตรา 1:1 หรือ 2:1 ใส่ลงไปบริเวณก้นหลุม
4. กลบดินให้แน่นกระชับให้สูงกว่าระดับพื้นและให้รอยเชื่อมต่อต้นพันธุ์อยู่หัวผิวดินและรดน้ำให้ความชื้นหลังปลูก

การดูแลรักษาลำไยที่ปลูกใหม่

หลักการปลูกลำไยเสร็จเรียบร้อยแล้ว ถ้าสภาพแวดล้อมปลูกไม่เหมาะสมโดยเฉพาะการปลูกลำไยในที่ดอนช่วงหน้าแล้งอาจทำให้ลำไยได้รับอันตรายจำเป็นต้อง มีการปฏิบัติิเพื่อให้ต้นลำไยมีการเจริญเติบโตตามปกติ ควรปฏิบัติ ดังนี้
1. การผูกหลักเพื่อป้องกันต้นโยกคลอนจากลมหรือสัตว์เลี้ยง ทำให้รากลำไยได้รับความเสียหาย
2. การปลูกลำไยที่ขยายพันธุ์โดยการเสียบกิ่ง ควรใช้ปลายมีดกรีด พลาสติกพัน แผลออกเพื่อป้องกันพลาสติกรัดลำต้นลำไย
3. คลุมโคนต้นลำไยด้วยเศษพืชในช่วงฤดูแล้ง เช่น ฟางข้าว หญ้าแห้ง เป็นต้น เพื่อลดการสูญเสียน้ำไปจากดินและควรราดสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศตรูทำลายรากลำไย เช่น ปลวก และ มด บังร่มให้ต้นลำไยกรณีปลูกในพื้นที่มีแดดจัดสภาพอากาศร้อนเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อต้นลำไยควรใช้วัสดุพลาง เช่น ทางมะพร้าว ตาข่ายพลางแสง
4. ระยะแรกของการปลูกลำไยควรให้น้ำทุกวัน

การปลูกลำไยทรงเตี้ยระยะชิด

ลำไยทรงเตี้ยระยะชิด

การปลูกลำไยระยะชิดเป็นระบบการปลูกรูปแบบใหม่ เป็นรูปแบบที่นิยมในประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน ยุโรป อเมริกาและออสเตรเลีย การทำสวนลำไยแบบดั้งเดิมเกษตรกรจะปล่อยให้ต้นลำไยมีทรงพุ่มสูงใหญ่ โดยตัดแต่งกิ่งที่อยู่ด้านล่างออก ซึ่งจะเป็นการบังคับให้ต้นลำไยมีการเจริญในด้านส่วนสูงมากขึ้น ทำให้ไม่สะดวกต่อการจัดการและการปรับปรุงคุณภาพเพื่อให้ผลมีขนาดใหญ่โดยการตัดช่อผลทำได้ยาก ในส่วนเกษตรกรที่คิดจะสร้างสวนใหม่เพื่อทดแทนสวนลำไยเก่าที่เสื่อมโทรมนั้นควรปลูกลำไยทรงเตี้ยระยะชิด

ข้อดีของการปลูกลำไยทรงเตี้ยระยะชิด

1. ให้ผลตอบแทนเร็ว ปลูกเพียง 2 ปี ก็ได้ผลผลิต
2. ให้ผลผลิตต่อไร่สูง
3. ลดต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะด้านแรงงาน
4. สะดวกในการจัดการ เช่น การดูแลรักษา เก็บเกี่ยวผลผลิตลงตะกร้าลำไย และการปรับปรุงคุณภาพของผลผลิต โดยการตัดแต่งช่อผล เพื่อเพิ่มขนาดผล

วิธีปลูกลำไยทรงเตี้ยระยะชิด

วิธีการปลูกลำไยระยะชิด เป็นเทคนิคหนึ่งที่นิยมในการทำสวนลำไยที่ให้ประโยชน์คุ้มค่า มีวิธีการไม่ยุ่งยาก เกษตรกรสามารถทำได้เอง ดังนี้

1. การกำหนดระยะปลูกลำไย

เกษตรการสามารถกำหนดระยะปลูกได้ตามความต้องการอาจเริ่มตั้งแต่ระยะระหว่างต้น 2-6 เมตร และระหว่างแถว 2-6 เมตร
จำนวนต้นต่อไร่ของการปลูกลำไยระยะชิด
จำนวนต้นต่อไร่ของการปลูกลำไยระยะชิด
การวางแนวปลูกลำไยระยะชิดระยปลูก 2x4 เมตร
ตัวอย่างการวางแนวปลูกลำไยระยะชิดระยปลูก 2x4 เมตร

2. การควบคุมทรงพุ่มลำไย

หลังปลูก 1ปี ตัดแต่งต้นให้เป็นทรงฝาชีหงาย ใช้เชือกผูกดึงกิ่ง เพื่อกระตุ้นการแตกกิ่ที่เจริญในแนวนอน
การโน้มกิ่งเพื่อบังคับให้เลำไยจริญในแนวนอน
การโน้มกิ่งเพื่อบังคับให้เลำไยจริญในแนวนอน

3. การบังคับการออกดอก

เมื่อต้นลำไยอายุ 2-2.5 ปี สามารถบังคับให้ออกดอก ในกรณีของลำไย โดยใช้สารโพแทสเซียมคลอเรต อัตรา 10-20 กรัมต่อตารางเมตรหว่านรอบพื้นที่ทรงพุ่ม ซึ่งต้นลำไยจะใช้สารประมาณ 30-50 กรัม ประมาณ 3-4 สัปดาห์ ต้นลำไยจะเริ่มออกดอก ช่วงนี้หมั่นดูแลรักษา โดยการให้น้ำสม่ำเสมอและให้ธาตุอาหารโดยอาศัยค่าจากการวิเคราะห์ดิน
การให้สารโดยการหว่านรอบทรงพุ่มลำไย
การให้สารโดยการหว่านรอบทรงพุ่มลำไย

3. ตัดแต่งกิ่งหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไย

หลังเก็บเกี่ยวต้องตัดแต่งกิ่งเพื่อควบคุมทรงพุ่มโดยใช้ทรงฝาชีหงาย โดยตัดกิ่งกระโดงเก่าให้เหลือตอไว้ หลังจากนี้ประมาณ 3 สัปดาห์ ก็จะเริ่มแตกใบใหม่ ปล่อยให้ลำไยแตกใบประมาณ 3-4 ชุด ก็สามารถบังคับให้ลำไยออกดอกได้ในระยะต่อไป
การตัดแต่งกิ่งลำไยทรงฝาชีหงายหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไย
การตัดแต่งกิ่งลำไยทรงฝาชีหงายหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไย

การปฏิบัติดูแลรักษาลำไย

การดูแลรักษาในระยะที่ลำไยยังไม่ให้ผล

1. การทำร่มเงาควรทำร่มเงาให้ต้นลำไยที่ปลูกใหม่เมื่อต้นลำไยตั้งตัวได้ดีแล้วจึงเอาที่บังร่มออก
2. การให้น้ำ ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอประมาณสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง เมื่อต้นลำไยตั้งตัวได้ดีแล้วให้น้ำตามความจำเป็น
3. การคลุมดิน วัสดุใช้คลุมดิน ได้แก่ ฟางข้าว เศษหญ้า หรือพืชตระกูลถั่วต่างๆ ปลูกคลุมดินซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มอินทรีย์วัตถุให้กับดิน
4. การสร้างทรงพุ่มของลำไย จะสร้างทรงพุ่มของลำไยให้เป็นต้นเดี่ยวขึ้นไปก่อนแล้วจึงค่อยปล่อยให้แตกกิ่งก้านเมื่อมีความสูงจากดินประมาณ 1 เมตร ประมาร 2-3 กิ่ง
5. การให้ปุ๋ย เมื่อต้นพันธุ์ลำไยตั้งตัวได้แล้วควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เข่น ปุ๋ยคอก และปุ๋ยวิทยาศาสตร์ สูตร 15-15-15 อัตรา 100-150 กรัม/ครั้ง/ต้น

ปฏิทินการปฏิบัติดูแลรักษาสวนลำไย

มกราคม
ระยะแทงช่อดอก
การให้น้ำ เมื่อเห็นเป็นช่อดอกแล้วควรมีการให้น้ำเล็กน้อยและเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ
การใส่ปุ๋ย ควรมีการพ่นปุ๋ยทางใบเพื่อบำรุงช่อดอกและการติดผลที่ดี เช่น ปุ๋ยสูตร 10-45-10, 10-52-17 อัตรา 20-30 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร
การป้องกันกำจัดแมลง ระยะนี้อาจมีการระบาดของแมลงศัตรูช่อดอก เช่น หนอนกินดอก หนอนเจาะก้านดอก มวน ลำไย ควรทำการพ่นสารเคมีเป็นระยะเช่น คาร์บาริล, โมโนโครโตฟอส
กุมภาพันธ์
ระยะดอกบาน
การให้น้ำ ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ
การช่วยผสมเกสร ควรนำผึ้งมาเลี้ยงในระยะนี้เพื่อช่วยผสมเกสร
การป้องกันกำจัดแมลง งดการพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคแมลงทุกชนิดในระยะนี้ เพื่อให้มีแมลงมาช่วยในการผสมเกสรให้มากที่สุด
มีนาคม - เมษายน
ระยะติดผลลำไยขนาดเล็ก
การให้น้ำ ระยะนี้ต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ถ้าขาดน้ำจะทำให้ผลลำไยแคระแกร็นและร่วงมาก
การใส่ปุ๋ย ระยะติดผลขนาด 5มิลลิเมตร ควรใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 ประมาณ 1-3 กิโลกรัม ต่อต้นเพื่อบำรุงผลให้โตอย่างสม่ำเสมอระยะผลโตปานกลาง ใส่ ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 อัตราประมาณ 1-3 กิโลกรัมต่อต้น
การป้องกันกำจัดโรคแมลง ในระยะนี้อาจมีการระบาดของ หนอนเจาะขั้วผล มวนลำไย แมลงปีกแข็ง ควรฉีดพ่นสารเคมีอย่างต่อเนื่อง โมโนโครโตฟอส คาร์บาริล
พฤษภาคม - กรกฎาคม
ระยะผลลำไยกำลังเจริญเติบโต
การให้น้ำ ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ
การใส่ปุ๋ย ก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไย 30 วัน ควรใส่ปุ๋ยเคมีสูตรตัวท้ายสูง เช่น 13-13-21 เพื่อเพิ่มคุณภาพของผลผลิตลำไยให้ดีขึ้น
การค้ำกิ่ง ระยะนี้ผลกำลังเจริญเติบโตขึ้นเรื่องๆ กิ่งจะรับน้ำหนักมากขึ้น ควรทำการค่ำกิ่งด้วยไม้ไผ่ เพื่อช่วยพยุงกิ่งไม่ให้ฉีดหัก
การป้องกันกำจัดโรคแมลง ในสวนบางท้องที่ ในระยะนี้อาจมีการทำลายของค้างคาว ควรใช้ตาข่ายไนล่อนพลาสติกกันตามแนวช่องระหว่างต้น เพื่อดักจับไปทำลายนอกจากนี้ยังมีผีเสื้อมวนหวาน แมลงวันทอง ควรรีบทำการป้องกันกำจัดโดยใช้กับดัก เหยื่อพิษ และฉีดพ่นสารเคมี ป้องกันกำจัดแมลง เช่น คาร์บาริล
สิงหาคม
ระยะเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไย
การให้น้ำ ควรงดการให้น้ำก่อนการเก็บเกี่ยว 7-10 วัน
การเก็บเกี่ยว การขึ้นไปเก็บผลผลิตควรใช้บันไดหรือพะองพาดกิ่งขึ้นไป ใช้กรรไกรตัดช่อผลให้ลึกเข้าไปประมาณ 1 ฟุต จากปลายช่อไม่ควรใช้มือหักช่อผลโดยตรงเพราะจะทำให้ปลายกิ่งที่เหลืออยู่เป็นแผลช้ำ หรือมีรอยฉีกขาดเข้าไปในกิ่ง ทำให้การแตกยอดอ่อนใหม่รวมทั้งการแทงช่อดอกปีต่อไปจะไม่ดีด้วย ควรทยอยเก็บช่อผลที่แก่เต็มที่แล้วประมาณ 5-7 วันต่อครั้ง จนหมดต้น อย่าให้ผลแก่จัดตกค้างอยู่บนต้นนานจะทำให้คุณภาพต่ำลง ควรบรรจุผลผลิตใน ตะกร้าผลไม้  หรือ ลังพลาสติก ดีกว่าบรรจุกล่องกระดาษเพราะในกล่องกระดาษจะมีความชื้นสูง
กันยายน
ระยะหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไย
การตัดแต่งกิ่ง หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ควรตัดกิ่งที่ถูกโรคแมลงเข้าทำลาย กิ่งฉีด หัก กิ่งน้ำค้าง กิ่งไขว้ซ้อนกัน เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่งขึ้น ถ้าเป็นกิ่งขนาดใหญ่ควรใช้ปูนแดงที่แผลเพื่อป่องกันโรคเข้าทำลาย
การใส่ปุ๋ย
• ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ประมาณ 15-20 กิโลกรัมต่อต้น
• ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่นสูตร 15-15-15 ประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อต้น (อายุต้นลำไย 7 ปี ถ้าอายุมากหรือต่ำกว่านี้ก็เพิ่มหรือลดลงตามความเหมาะสม)
• ถ้าการแตกใบอ่อนไม่สม่ำเสมอ หรือแตกใบอ่อนช้าควรเร่งให้แตกใบอ่อนเร็วขึ้น โดยใช้ปุ๋ย ไทโอยูเรีย อัตรา 100-150 กรัมต่อน้้ำ 20 ลิตร พ่นทั่วทรงพุ่ม 1-2 ครั้ง ห่างกัน 7-10 วัน จะช่วยให้แตกใบอ่อนออกมาพร้อมกันและเร็วขึ้นด้วย
การป้องกันกำจัดโรคแมลง ควรฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคแมลงที่มีระบาดในระยะนี้ เช่น เพลี้ยแป้ง หนอนเจาะกิ่ง แมลงค่อมทอง หนอนคืบกินใบอ่อน หนอนม้วนใบ เช่น เคลเทน, โมโนโครโตฟอส, คาร์บาริล
ตุลาคม
ระยะใบอ่อน
การให้น้ำ
• ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอเพื่อช่วยในการแตกใบอ่อนได้เร็วขึ้น
• ถ้าใบมีความสมบูรณ์ต่ำ ควรมีการพ่นปุ๋ยทางใบสูตร 30-20-10, 20-20-20 อัตรา ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ของใบให้มากขึ้น
การป้องกันกำจัดโรคแมลง ควรฉีดพ่นสารเคมี เช่น เคลเทน, โมโนโครโตฟอส, คาร์บาริล ป้องกันกำจัดโรคแมลงที่มีการระบาดในระยะนี้ เช่นไรลำไย เพลี้ยแป้ง หนอนเจาะกิ่ง แมลงค่อมทอง หนอนคืบกินใบอ่อน หนอนม้วนใบ
การกำจัดวัชพืช ถ้ามีวัชพืชขึ้นในสวนลำไยมาก ควรกำจัดให้หมด
พฤศจิกายน
ระยะใบแก่
การตัดแต่งกิ่ง ควรมีการตัดแต่งกิ่งอีกครั้ง โดยตัดเฉพาะกิ่งแตกออกมาเป็นจุกกิ่งที่ไขว้กัน กิ่งที่ถูกโรคแมลงเช้าทำลาย กิ่งน้ำค้าง
การใส่ปุ๋ย
• ในระยะใบแก่จัดควรใส่ปุ๋ยเคมีตัวกลางและตัวท้ายสูง เช่นสูตร 9-24-24 ประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อต้น เพื่อบำรุงต้นเพื่อให้มีการสะสมอาหารและสร้างตาดอกต่อไป
• ควรมีการพ่นปุ๋ยทางใบสูตร 0-52-34 อัตรา 100-150 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร จำนวน 2 ครั้ง ห่างกัน 7-10 วัน เพื่อช่วยให้ใบแก่เร็วขึ้นและช่วยป้องกันการแตกใบอ่อน หากมีฝนตกในช่วงนี้
การให้น้ำ หลังจากหมดฝนแล้วงดการให้น้ำเพื่อให้ต้นพักตัวเร็วขึ้น
การป้องกันกำจัดโรคแมลง ถ้ามีการระบาดของโรคพุ่มไม้กวาดให้ทำการตัดทิ้งและพ่นสารเคมีป้องกันโรคแมลงตามการระบาดของโรคแมลง เช่น หนอนเจาะกิ่ง หนอนคืบกินใบ เช่น คาร์บาริล โมโนโครโตฟอส และ โรคราน้ำค้าง เช่น แมนโคเชบ
ธันวาคม
ระยะใบแก่
การกำจัดวัชพืช ในระยะนี้ควรกำจัดวัชพืชและทำความสะอาดสวนลำไย และใต้ทรงพุ่ม เพื่อให้ดินใต้ทรงพุ่มแห้งเร็วขึ้น
การใส่ปุ๋ย ควรพ่นปุ๋ยทางใบเพื่อบำรุงให้ต้นมีความสมบูรณ์ และกระตุ้นการสร้างตาดอก เช่น ปุ๋ยสูตร 10-52-17, 10-45-10 อัตรา 20-30 ซีซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร
การป้องกันกำจัดโรคแมลง พ่นสารเคมีป้องกันโรคแมลง ที่มีการระบาดในระยะนี้ เช่น มวนลำไย หนอนเจาะกิ่ง
การให้น้ำ งดการให้น้ำ เพื่อให้ต้นลำไยมีการสร้างดอก
ตอน  1  2 
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
โรงงานพลาสติก L.A PLastic
129/20 หมู่4 ซ.เพชรเกษม99 แยก 5
ต.อ้อมน้อย อ. กระทุ่มแบน
จ.สมุทรสาคร 74130 ประเทศไทย

TEL: 081-903-4147

Email: la2plastic@gmail.com
line qr come ติดต่อโรงงานผลิตพลาสติก
LINE ID: @laplastic
Copyright © 2008 by "L.A PLASTIC"  •  All Rights reserved www.laplastic.biz Tel: 081-9034147