โรคมังคุดมีอะไรบ้างที่ชาวสวนมังคุดต้องรู้

โรคมังคุดมีอะไรบ้างที่ชาวสวนมังคุดต้องรู้
สำหรับปัญหาเรื่องของโรคของมังคุดนั้น  เนื่องจากมังคุดเป็นผลไม้ที่มียางจึงมีปัญหาทางด้านโรคน้อย โดยโรคที่พบคือโรคทำลายใบ ได้แก่ โรคใบจุด  ถ้าสวนมังคุดนั้นไม่มีการจัดการที่ดี ซึ่งโรคนี้ยังสามารถเข้าทำลายสวนของผลและลำต้นได้ โรคผลเน่าเป็นอีกโรคหนึ่งที่เกิดจากการเข้าทำลายของราหลายชนิด ความรุนแรงของโรคมีความสัมพันธ์กับสภาพอากาศ ถ้าอุณหภูมิและความชื้นสูงราจะเจริญและเข้าทำลายได้ดี นอกจากนี้ ยังพบโรคที่เกิดจากราเข้าทำลายขั่วผลทำให้ขั้วผลเน่า ซึ่งจะมีผลต่อโรคพืชหลังการเก็บเกี่ยว ส่วนอาการยางไหลอาการเนื้อแก้ว และอาการยางตกในเป็นอาการที่เกิดจากสภาพแวดล้อมและสรีรวิทยาของพืช

โรคใบจุด แผลแตกยางไหล ผลเน่า

สาเหตุ โรคใบจุด แผลแตกยางไหล ผลเน่า

Pestalotiopsis flagisettula (Guba) Stay
Teleomorph state:-

ลักษณะอาการของโรคใบจุด แผลแตกยางไหล ผลเน่า

เกิดอาการแผลจุดสีน้ำตาลหรือน้ำตาลปนเทาบนใบ ขนาดรูปร่างไม่แน่นอนอาจจะเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ขอบแผลค่อนข้างจะมีสีม่วงเข้ม แผลเก่าๆ บริเวณกลางแผลพบจุดเล็กสีดำกระจายอยู่ ซึ่งจุดดำๆ เหล่านี้คือส่วนขยายพันธุ์ของราภายในจะพบสปอร์ของราเกิดอยู่ในส่วนขยายพันธุ์เป็นจำนวนมาก ถ้าเป็นโรครุนแรงจะทำให้ใบสูญเสียเนื้อที่ในการสังเคราะห์แสงมีผลกระทบกับการเจริญเติบโตของพืช แต่ถ้าการระบาดรุนแรงมากอาจทำให้ใบที่เป็นโรคร่วงหล่นมีผลกับผลมังคุดที่เกิดบนช่อนั้นๆ ทำให้ผิวเปลือกมังคุดกร้านแดดไม่เป็นมันสดใสเนื่องจากไม่มีใบหรือมีใบปกคุมน้อยการเข้าทำลายของแมลงกัดกินใบหรือหนอนชอนใบจะส่งเสริมอาการของโรคให้รุนแรงขึ้น นอกจากนี้รายังสามารถเข้าทำลายลำต้นมังคุดด้วย โดยเฉพาะในระยะต้นกล้า

การแพร่ระบาดของโรคใบจุด แผลแตกยางไหล ผลเน่า

ราสาเหตุสร้างสปอร์แพร่กระจายไปตามลม ระบาดมากในฤดูฝน ถ้าพบโรคใบจุดที่ใบมากและช่วงที่ติดผลมีความชื้นสูง ฝนตกชุกโรคจะเข้าทำลายผลมังคุดด้วย
การเกิดจุดแผลขนาดใหญ่ต่างๆ กันนั้นขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ได้แก่ สภาพความชื้นสูง มีปริมาณเชื้อสาเหตุโรคมาก หรือใบเป็นแผลจากการทำลายของแมลง เช่น หนอนชอนใบ ก็จะเป็นสาเหตุให้ราเข้าทำลายได้ง่ายขึ้น

วิธีการป้องกันกำจัดโรคใบจุด แผลแตกยางไหล ผลเน่า

เชื้อสาเหตุเข้าทำลายใบทำให้เกิดอาการใบจุด มักพบโรคระบาดมากในแปลงมังคุดที่ไม่มีการจัดการที่ดี ปล่อยให้ต้นหนาทึบ ใบหนาแน่น ถ้ามีสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการเข้าทำลายของเชื้อราก็จะทำให้เกิดการระบาด และเชื้อสามารถเข้าทำลายผลมังคุดได้ด้วย การป้องกันกำจัดมี ดังนี้
1. การทำความสะอาดแปลงปลูก กำจัดวัชพืชที่เป็นแหล่งสะสมโรค
2. พ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น คอปเปอร์อ็อกซีคลอไรด์ 85% ดับปลวพี อัตรา 30-80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร คาร์เบนดาซืม 50% ดับบลิวพี อัตรา 10-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร แมนโคเซบ 80% ดับบลิวพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เป็นต้น ในช่วงที่มังคุดแตกใบอ่อน 1-2 ครั้ง
3. ป้องกันกำจัดแมลงพวกหนอนชอนใบ เพ่อลดการเกิดแผลบนใบ
ภาพโรคใบจุด/แผลแตกยางไหล/ผลเน่า
อาการเป็นแผลจุดแห้งสีน้ำตาลไหม้บนใบมังคุด
อาการเป็นแผลจุดแห้งสีน้ำตาลไหม้บนใบ
แผลขยายใหญ่สีฟางข้าวที่ใบมังคุด
แผลขยายใหญ่ขึ้น สีฟางข้าว
ลักษณะเชื้อราเข้าทำลายกิ่งอ่อนต้นมังคุด
ราเข้าทำลายกิ่งอ่อน
ลักษณะอาการโรคใบจุดบนผลมังคุด
อาการบนผลมังคุด

โรคผลเน่าแอนแทรคโนส

สาเหตุ โรคผลเน่าแอนแทรคโนส

Colletotrichum gloeosporioides (Penz.) Penz. & Sacc.
Teleomorphh state: Glomerella cingulata (Stoneman) Spauld & H.Schrenk

ลักษณะอาการของโรคผลเน่าแอนแทรคโนส

อาการเริ่มจากมีลักษณะเป็นแผลจุดเล็ก สีดำบนผลมังคุด ต่อมาแผลจะขยายใหญ่ขึ้น โรคเกิดได้ตั้งแต่ผลสีน้ำตาลจนถึงผลแก่ ถ้าสภาพแวดล้อมมีอุณหภูมิและความชื้้นสูงจะพบราสร้างกลุ่มสปอร์สีส้มเป็นวงซ้อนกันเจริญอยู่บนแผล สามารถเข้าทำลายได้ทั้งส่วนใบและผลมังคุด โรคมีระยะพักตัวเป็นเดือน โดยไม่แสดงอาการในระยะผลอ่อนแต่จะแสดงอาการเมื่อผลแก่ โดยเฉพาะในระยะใกล้เก็บเกี่ยว

การแพร่ระบาดของโรคผลเน่าแอนแทรคโนส

ราสร้างสปอร์แพร่กระจายไปตามลมและฝน ระบาดมากในช่วงฤดูฝนและระยะใกล้เก็บเกี่ยว

วิธีการป้องกันกำจัดโรคผลเน่าแอนแทรคโนส

1. การทำความสะอาดแปลงปลูก และทำลายส่วนที่เป็นโรค
2. พ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืช ได้แก่ คาร์เบนดาซิม 50% ดับบลิวพี อัตรา 10-20 กรัม ต่อน้ำ20 ลิตร ไอโปรไดโอน 50% ดับบลิวพี อัตรา 20-30 กรัมต่อน้ำ 20ลิตร หรือ แมนโคเซบ 80% ดับบลิวพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
ภาพลักษณะอาการผลเน่าแอนแทรคโนส
ภาพลักษณะอาการผลเน่าแอนแทรคโนส

โรคผลเน่าหลังเก็บเกี่ยว

สาเหตุ โรคผลเน่าหลังเก็บเกี่ยว

เกิดจากผลมังคุดได้รับการกระทบกระเทือนจากการเก็บเกี่ยว การขนส่งทำให้เกิดอาการยางตกในหรือเนื้อแก้ว ซึ่งสภาพเอื้ออำนวยให้เชื้อราสาเหตุโรคพืชสามารถเข้าทำลายให้เกิดการเน่าเสียได้ หรือเกิดจากสภาพการเก็บรักษาในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม มีความร้อนและความชื้นสูงรวมทั้งระยะเวลาในการเก็บรักษานาน เหล่านี้เป็นปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้เชื้อสาเหตุโรคพืชหลายชนิดเข้าทำลายทำให้เกิดอาการเน่าเสียภายในเนื้อผลมังคุดได้ ซึ่งราที่มักพบเกี่ยวข้องกับอาการเน่าหลังเก็บเกี่ยว เข่น Colletotrichum gloeosporioides, Lasiodiplodia theobromae, Phomopsis sp.Graphium sp. และ Pestalotiopsis flagisetula เป็นต้น

ลักษณะอาการของโรคผลเน่าหลังเก็บเกี่ยว

ทำให้เกิดอาการผลมังคุดแข็ง เนื้อของมังคุดเปลี่ยนสี มีลักษณะช้ำ บางครั้งพบเส้นใยของราภายในผลมังคุดที่มีอาการเน่าเสียภายใน มักจะไม่แสดงอาการภายนอกให้เห็นชัดเจนมากนัก นอกจากถ้าบีบผลดูจะพบอาการแห้งแข็งของผลเปลือกผล มีสาเหตุจากการกระทบกระแทกจากขั้นตอนการเก็บเกี่ยวและการขนส่งที่ไม่ถูกต้อง เมื่อเปิดเปลือกดูภายในอาจจะพบราหลายชนิดหรือไม่พบเลยก็เป็นได้ ราที่พบเข้าทำลายหลังเก็บเกี่ยวเป็นราปนเปื้อนที่มีอยู่ในอากาศทั่วไป เช่น L. theobromae มีลักษณะเส้นใยเป็นสีเทาดำ เป็นต้น แม้แต่รา P. flagisetula ก็พลเข้าทำลายผลหลังเก็บเกี่ยวได้เช่นกัน

การแพร่ระบาดของโรคผลเน่าหลังเก็บเกี่ยว

อาการเน่าของเนื้้อภายในผลจะพบภายหลังการเก็บเกี่ยวมังคุดประมาณ 1-2 สัปดาห์ ในสภาพการเก็บเกี่ยวแล้วเก็บรักษาในอุณหภูมิห้อง ส่วนใหญ่พบเกิดกับผลที่มีปัญหาเก็บเกี่ยวไม่ถูกต้อง เกิดแผลหรือรอยช้ำต่างๆ ซึ่งทำให้ราสามารถเข้าทำลายเนื้้อผลภายในได้ง่าย
การเน่าเสียของเนื้อภายในมังคุดเกิดได้น้อยมาก หากมีวิธีการเก็บเกี่ยวและการขนส่งมังคุดที่ดีไม่ให้ผลได้รับความกระทบกระแทกและมีกรรมวิธีหลังเก็บเกี่ยวที่ถูกต้อง

วิธีการป้องกันกำจัดโรคผลเน่าหลังเก็บเกี่ยว

ผลผลิตมังคุดเพื่อการส่งออกต้องการระยะเวลาในการขนส่งจนกว่าจะถึงปลายทางอาจเกิดปัญหาการเน่าเสียในช่วงการวางตลาดได้ เกษตรกรผู้ปลูกควรต้องกูแลรักษาในเรื่องการป้องกันกำจัดโรคพืชตั้งแต่ช่วงออกดอกและติดผลอ่อน โดยการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น คาร์เบนดาซิม 50% ดับบลิวพี อัตรา 10-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เบโนมิล 50% ดับบลิวพี อัตรา 10-15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร 1-2 ครั้ง ในช่วงออกดอกและติดผลอ่อนเพื่อลดความเสี่ยงจากราที่อาจจะเข้าไปในผลมังคุด และไปทำความเสียหายในช่วงหลังเก็บเกี่ยว นอกจากนั้นกรรมวิธีหลังเก็บเกี่ยว ได้แก่ การจุ่มขั้้วผลหรือผลในสารเคมีป้องกันกำจัดโรคพืชอาจช่วยลดความเสียหายจากผลเน่าได้ ตลอดจน การขนส่งควรจะจัดเก็บบรรจุลง ตะกร้ามังคุด หรือ ตะกร้าหูเหล็ก อย่างระมัดละวังเพื่อที่จะไม่ให้ผลรับความเสียหายจากการกระทบกระแทกซึ่งอาจจะทำให้ผลมังคุดเสียหายได้
ภาพ โรคผลเน่าหลังเก็บเกี่ยวเกิดจากรา Lasiodiplodia theobromae
ลักษณะอาการเปลือกมังคุดโรคผลเน่าหลังเก็บเกี่ยว
ระมัดระวังการเก็บรักษาขนส่งไม่ให้ผลมังคุดกระทบกระแทก

โรคเนื้อแก้วและยางไหล

สาเหตุ โรคเนื้อแก้วและยางไหล

เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของผลมังคุดเมื่อได้รับน้ำมากเกินไปในช่วงผลใกล้แก่ ถ้ามีฝนตกมาก ต้นมังคุดก็จะดูดน้ำเข้าไปมากด้วยเช่นกัน ผลคือลูกมังคุดมีน้ำมากเกินไป ซึ่งน้ำเหล่านี้จะเข้าไปแทนที่อากาศส่วนหนึ่ง ทำให้ช่องว่างลดลงเกิดเป็นเนื้อใสที่เต็มไปด้วยน้ำ และที่สำคัญเมื่อผลมังคุดมีน้ำมากก็จะขยายตัวมากเกินไปจึงมีผลทำให้ท่อน้ำยางแตก และเกิดอาการยางไหลในผลมังคุด ซึ่งสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าคือ น้ำยางสีเหลืองไหลออกมาเป็นจุดๆ บนเปลือก อาการยางไหลนี้พบอาการยางไหลของผลมากกว่าในช่วงที่ไม่มีฝนหรือฝนตกน้อย นอกจากนั้นการเสียดสีของผลด้วยกันเองหรือกับใบทำให้ผนังบางๆ ที่ปิดต่อมน้ำยางบนผิวผลเปิดหรือขาดออกจากกัน ทำให้น้ำยางไหลซึมออกมาได้ ซึ่งเมื่อถูกอากาศภายนอกก็จะแห้งแข็งเห็นเป็นเม็ดสีเหลืองติดอยู่บนผล

ลักษณะอาการของโรคเนื้อแก้วและยางไหล

เนื้อภายในผลมังคุดโดยปกติจะมีลักษณะนุ่มและมีสีขาวขุ่น ส่วนเนื้อมังคุดที่เป็นตัวเนื้อแก้วจะใสและมีลักษณะคล้ายฉ่ำน้ำอยู่ภายใน อาการเนื้อแก้วมักเกิดกับกลีบเนื้อหรือพูที่มีเมล็ดและลุกลามไปยังพูข้างเคียง มังคุดเนื้อแก้วมีความกรอบ และรสชาติค่อนข้างจืด
อาการเนื้อแก้วถ้าเป็นรุนแรงอาจสังเกตได้จากภายนอก กล่าวคือ ผิวของเปลือกจะมีรอยร้าวตามแนวนอน ถ้ารอยร้าวนั้นยาวอาการเนื้อแก้วในผลจะมีมาก แต่หากอาการเนื้อแก้วมีเพียงเล็กน้อยจะไม่สามารถสังเกตเห็นอาการผิดปกติใดๆ บนผิวของผลมังคุดได้
อาการยางไหลจะสังเกตเห็นน้ำยางสีเหลืองบางส่วนไหลออกมาเป็นจุดๆ บนเปลือกมังคุด

การแพร่ระบาดของโรคเนื้อแก้วและยางไหล

ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนที่มากกว่าปกติในช่วงผลมังคุดใกล้แก่ อายุต้น สภาพดิน และการจัดการสวน ต้นมังคุดที่มีอายุมากก็มีโอกาสที่จะเกิดเนื้อแก้วได้น้อยกว่าต้นอายุน้อย มังคุดที่ปลูกในดินที่มีลักษณะเป็นทรายมีโอกาสเกิดเนื้อแก้วได้มากกว่าในดินเหนียว และการจัดการน้ำที่เหมาะสมจะช่วยให้เกิดอาการเนื้อแก้วน้อยลง

วิธีการป้องกันกำจัดโรคเนื้อแก้วและยางไหล

1. จัดการต้นมังคุดให้ออกดอกเร็วกว่าฤดูกาลเพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ก่อนที่ฝนจะตกชุกโดยกระตุ้นให้มีการแตกใบอ่อนเร็วขึ้นและเสริมสร้างการเจริญเติบโตการจัดการธาตุอาหารพืชที่เหมาะสม สร้างสภาพแวดล้อมให้ต้นมังคุดได้พักตัวเร็วขึ้น เพื่อการชักนำให้ออกดอกได้เร็วกว่าปกติ
2. อาการเนื้อแก้วของมังคุดอาจจะป้องกันได้โดยการให้น้ำมังคุดอย่างสม่ำเสมอในช่วงติดผลการบำรุงรักษาต้นให้มีความสมบูรณ์ การได้รับน้ำมากเกินไปอาจมีผลกระทบน้อยลงหรือไม่มีเลยก็ได้กับอาการเนื้อแก้วหรืออาการยางไหลบนผล
3. มีการให้น้ำเหนือทรงพุ่มเป็นระยะๆ ในขณะที่ผลมังคุดเจริญเติบโตเต็มที่
ภาพ โรคเนื้อแก้วและยางไหล
ลักษณะโรคเนื้อแก้วภาพนอกผิวเปลือกมีรอยร้าวตามแนวนอน
ผิวของเปลือกมังคุดมีรอยร้าวตามแนวนอน
มังคุดที่เป็นเนื้อแก้วเนื้อมีสีใสกรอบและไม่หวาน
เนื้อมังคุดที่เป็นเนื้อแก้วจะใสและมีลักษณะคล้ายฉ่ำน้ำอยู่ภายใน
ลักษณะอาการโรคยางไหลในมังคุด
อาการยางไหลที่ผลมังคุดมีน้ำยางสีเหลืองไหลจากผิวเปลือก

อาการยางตกใน

สาเหตุ อาการยางตกใน

1. การกระทบกระแทกของผลในขณะเก็บเกี่ยวและขั้นตอนการขนส่ง
2. ได้รับน้ำมากเกินไปจากสภาวะฝนตกต่อเนื่องทำให้สภาวะน้ำภายในผลมังคุดเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้ท่อน้ำยาง (latex vessel) แตก

ลักษณะอาการยางตกใน

อาการยางตกในแยกออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ อาการยางตกในที่เกิดจากการเก็บเกี่ยวไม่ถูกต้อง หรือผลมังคุดแก่จัดแล้วร่วงหล่นลงมาเองหรือการเก็บเกี่ยวที่ใช้วิธีเขย่าต้น ซึ่งเป็นวิธีเก็บเกี่ยวมังคุดในสมัยโบราณ ผลมังคุดที่ได้รับการกระทบกระแทกจากการเก็บเกี่ยวและการขนย้าย หากไปถึงมือผู้บริโภคเร็วยังพอรับประทานได้ แต่ถ้าทิ้งไว้นานเปลือกจะแข็ง เนื้อในแห้งแข็งและมียางแทรกอยู่ในเนื้อไม่สามารถรับประทานได้ สำหรับอาการที่ไม่รุนแรงเนื้อยังรับประทานได้แต่จะมีรสฝาดหรือขมของยางติดมาด้วย
ส่วนอาการยางไหลภายในผลมังคุดอีกลักษณะหนึ่งเกี่ยวข้องกับการที่ต้นมังคุดได้รับน้ำในปริมาณมากและต่อเนื่องในช่วงที่มังคุดใกล้แก่ ทำให้ท่อน้ำยางภายในผลแตกหรือในบางกรณีทำให้เกิดเนื้อแก้ว ซึ่งอาการยางตกในลักษณะนี้ไม่ค่อยพบมากนัก

การแพร่ระบาดอาการยางตกใน

ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝน อายุต้น สภาพดิน การจัดการสวนและวิธีการเก็บเกี่ยวและขนส่ง

วิธีการป้องกันกำจัดอาการยางตกใน

วิธีการป้องกันกำจัดไม่ให้เกิดอาการยางตกในผล คือ การระมัดระวังในการเก็บเกี่ยวผลผลิตโดยเลิกใช้วิธีการเก็บเกี่ยวแบบเขย่าต้นให้ผลหล่นลงมาเอง ควรจะสอยผลมังคุดอย่างระมัดระวังด้วยเครื่องมือสอยหรือตะกร้อชนิดที่มีเครื่องรองรับที่อ่อนนุ่ม การเคลื่อนย้ายผลจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งควรทำอย่างระมัดระวังอย่าให้ผลตกกระทบกระแทกอย่างแรง ในกรที่สามารถควบคุมปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยวให้ผลมังคุดได้รับความกระทบกระแทกน้อยที่สุด โดยการบรรจุใน ตะกร้ามังคุด หรือ ลังหูเหล็ก หรืออาจจะใช้เข่งพลาสติก ในการขนย้าย ก็จะสามารถรักษาคุณภาพของเนื้อภายในให้มีคุณภาพดีอยู่ได้นานวัน
ส่วนการแก้ปัญหายางตกในผลที่มีสาเหตุจากการได้รับน้ำมากเกินไปนั้น วิธีแก้ไขใช้วิธีเดียวกับการจัดการปัญหาเนื้อแก้ว
ภาพ ลักษณะอาการยางตกใน
ลักษณะอาการยางตกในที่ไม่รุนแรงของมังคุด
ลักษณะอาการยางตกในที่รุ่นแรงของมังคุด
ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
โรงงานพลาสติก L.A PLastic
129/20 หมู่4 ซ.เพชรเกษม99 แยก 5
ต.อ้อมน้อย อ. กระทุ่มแบน
จ.สมุทรสาคร 74130 ประเทศไทย

TEL: 081-903-4147

Email: la2plastic@gmail.com
line qr come ติดต่อโรงงานผลิตพลาสติก
LINE ID: @laplastic
Copyright © 2008 by "L.A PLASTIC"  •  All Rights reserved www.laplastic.biz Tel: 081-9034147